การละเล่นพื้นบ้านของภาคใต้

ชื่อ  เป่ากบ: การละเล่นของเด็ก
ภาค  ภาคใต้
จังหวัด  นราธิวาส 
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
อุปกรณ์
๑. ยางวง (ยางเส้น) วงใหญ่ หรือวงเล็กก็ได้ แล้วแต่ความชอบและความถนัด
๒. ผู้เล่นจำนวนตั้งแต่ ๒ คน หรือมากกว่า เล่นทั้งเด็กชายและเด็กหญิงบางครั้งอาจเล่นเป็นทีมก็ได้
๓. สถานที่ เช่น พื้นซีเมนต์ พื้นกระดาน หรือพื้นโต๊ะ

วิธีการเล่น
เป่ากบเป็นการเล่นอย่างหนึ่งของเด็ก เล่นกันทั้งเด็กชายและหญิง ผู้เล่นมีจำนวน ๒ คน หรือเป็นทีมก็ได้ สถานที่เล่น ในที่ร่ม ใช้พื้นที่เรียบ ๆ เช่น พื้นซีเมนต์ พื้นกระดาน หรือพื้นโต๊ะ ซึ่งผู้เล่นจะเอายางเส้น (ยางวง) จะเป็นวงเล็กหรือวงใหญ่ หรืออาจจะเป็นวงสีต่าง ๆ อยู่ที่ความชอบ ได้แก่ สีเขียว สีแดง สีน้ำตาล เป็นต้น นำมาวางบนพื้นคนละ ๑ เส้น ให้อยู่ห่างกันประมาณ ๑ ฟุต ผู้เล่นจะผลัดกันเป่ายางเส้น (ยางวง) ของตนไปข้างหน้าทีละน้อย ๆ จนยางเส้นทั้งสองมาอยู่ใกล้กันผุ้เล่นคนใดเป่าให้ยางเส้นของตนไปทับยางเส้นของฝ่ายตรงข้ามได้ก็จะเป็นผู้ชนะ ฝ่ายแพ้จะต้องจ่ายรางวัลให้กับผู้ชนะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยางเส้น (ยางวง) แต่อาจให้รางวัลอื่น ๆ ก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน

โอกาสหรือเวลาที่เล่น
การเล่นเป่ากบของเด็ก ส่วนใหญ่เล่นกันในเวลาที่ว่าง และมีอุปกรณ์พร้อมที่จะเล่นกันทั้งสองฝ่าย

คุณค่า / แนวคิด/ สาระ
๑. การเล่นเป่ากบ เป็นการเล่นที่ให้ความสนุกสนานแล้วยังเป็นการฝึก การรู้กำหนดจังหวะและกะระยะด้วย
๒. การเล่นเป่ากบเป็นการฝึกสังเกต ไหวพริบในการเป่าของคู่ต่อสู้ ซึ่งจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เด็กรู้จักคิดให้รอบคอบก่อนที่จะเป่า ถ้าเป่าโดยไม่คิดอาจจะผิดพลาดได้ จนทำให้ต้องแพ้
๓. เป็นการฝึกเด็กรู้จักความรัก ความสามัคคี

By nighttomissyou

การละเล่นพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ชื่อ  การเล่นงูกินหาง
ภาค  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  ร้อยเอ็ด 
อุปกรณ์และวิธีเล่น การเล่นงูกินหางไม่มีอุปกรณ์การเล่นใด ๆ สามารถเล่นได้ทุกโอกาสจะมีเล่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนมากผู้ใหญ่จะเล่นในเทศกาลสำคัญ เช่น สงกรานต์ ส่วนเด็ก ๆ จะเล่นทุกโอกาสที่เด็ก ๆ รวมกันซึ่งมีวิธีการเล่นดังนี้ เริ่มเล่นเมื่อผู้เล่นพร้อมกันแล้วจะเริ่มด้วยการเสี่ยงถ้าใครแพ้คนนั้น ก็จะออกเป็นพ่องู ส่วนผู้ชนะก็จะได้เล่นเป็นแม่งูและลูกงู  ส่วนมากในกลุ่มผู้เล่นจะเลือกเอาคนที่มีร่างกายแข็งแรงหรือรูปร่างใหญ่ในทีมเป็นแม่งู เพื่อเอาไว้ป้องกันลูกงู เมื่อได้ผู้เล่นแล้วพ่องูและแม่งูจะยืนหันหน้าเข้าหากัน ส่วนแม่งูจะมีลูกงูกอดเอวต่อแถวไปข้างหลังแล้วพ่องูจะเริ่มถามแม่งูว่า
พ่องู “แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน”
แม่งู “กินน้ำบ่อโสกโยกไปโยกมา” พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา
พ่องู “แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน”
แม่งู “กินน้ำบ่อหินบินไปบินมา” พร้อมแสดงอาการบินไปบินมา
พ่องู “แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน”
แม่งู “กินน้ำบ่อทรายย้ายไปย้ายมา” พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา
พ่องู “กินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว”
เมื่อพ่องูกล่าวเสร็จพ่องูจะเริ่มไล่จับลูกงูที่กอดเอวแม่งูอยู่ส่วนแม่งูก็จะพยายามป้องกันไม่ให้พ่องูไปแย่งลูกงูได้ เมื่อพ่องูจับลูกงูคนใดได้ลูกงูก็จะออกมายืนอยู่ต่างหากเพื่อรอเล่นรอบต่อไป ส่วนพ่องูจะพยายามแย่งลูกงูให้ได้หมดทุกตัวจึงจะถือว่าจบการเล่นรอบหนึ่ง เมื่อพ่องูจับลูกงูได้ทุกตัวแล้วก็จะเริ่มเล่นใหม่ โดยพ่องูคนเดิมจะกลับไปเป็นแม่งูในรอบต่อไป

คุณค่า/แนวคิด/สาระ
๑. ให้ความสนุกสนานในกลุ่มผู้เล่น
๒. ฝึกให้เกิดความสามัคคีในกลุ่มผู้เล่น
๓. ฝึกฝนการต่อสู้และการหลบหลีกภัยที่จะเกิดกับตน
๔. ฝึกการทำงานเป็นกลุ่มตั้งแต่วัยเด็ก

By nighttomissyou

การละเล่นพื้นบ้านของภาคเหนือ

ชื่อ  เตยหรือหลิ่น
ภาค  ภาคเหนือ
จังหวัด  ตาก 
สถานที่เล่น ลานกว้าง ที่โล่งแจ้ง
อุปกรณ์ ไม่มี
จำนวนผู้เล่น ๖-๑๒ คน

วิธีเล่น
ขีดเส้นเป็นตารางจำนวนเท่ากับผู้เล่น (สมมติว่ามี ๖ คน) แล้วแบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งยืนประจำเส้น (ตามขวาง) อีกฝ่ายจะวิ่งผ่านแต่ละเส้นไปโดยไม่ให้เจ้าของเส้นแตะได้ เมื่อเริ่มเล่นคนที่ยืนประจำเส้นแรก พูดว่า ไหล หรือ หลิ่น ฝ่ายตรงข้ามก็เริ่มวิ่งผ่านเส้นแรกไปจนถึงเส้นสุดท้ายแล้ววิ่งกลับ ถ้าวิ่งกลับถึงเส้นแรกโดยไม่ถูกฝ่ายตรงข้ามแตะได้ก็พูดว่า เตย ก็จะเป็นฝ่ายชนะ

โอกาส
เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เด็ก ๆ เล่นกันโดยทั่วไป

By nighttomissyou

การละเล่นพื้นบ้านของภาคกลาง

ชื่อ  ว่าว
ภาค  ภาคกลาง
จังหวัด  กรุงเทพมหานคร 
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
ว่าวโดยทั่วไปมีโครงสร้างประกอบด้วยไม้ไผ่สีสุก นำมาผ่าแล้วเหลา ให้ได้ตามที่ต้องการแล้วนำมาประกอบกันให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ ผูกติดกันด้วยเชือกโยงยึดกัน เป็นโครงสร้างและปิดด้วยกระดาษชนิดบางเหนียว เช่น กระดาษสาและตกแต่งลวดลายด้วยจุด หรือดอกดวงเพื่อปิดยึดกระดาษกับเชือกให้แน่นว่าวที่นิยมกันคือ
ว่าวจุฬา ซึ่งมีโครงสร้างประกอบด้วยไม้ไผ่สีสุก ๕ ชิ้น มีจำปา ๕ ดอก ทำด้วยไม้ไผ่ยาว ๘ นิ้ว เหลากลมโตประมาณ ๓ มิลลิเมตร จำปา ๑ ดอกมีจำนวนไม้ ๘ อัน มัดแน่นกับสายป่านที่ชักว่าวจุฬาอันเป็นอาวุธที่ใช้ต่อสู้กับปักเป้า
ว่าวปักเป้า มีโครงสร้างประกอบด้วยไม้ไผ่สีสุกเหลากลม ๒ ชิ้น มีเหนียงเป็นเชือกยาว ๘ เมตร ผูกปลายทั้ง ๒ ข้าง ให้หย่อนเป็นสายรูปครึ่งวงกลมเพื่อคล้องตัวว่าวจุฬาให้เสียสมดุลจนตกลงพื้นดิน
ว่าวหง่าว ทำด้วยโครงไม้ไผ่ปิดกระดาษสา ลำตัวตอนบนมีรูปคล้ายอกว่าวจุฬามีเอวคอดและท่อนล่างกว่าท่อนบน ตอนส่วนหัวมีไม้ไผ่เหลาและขึงเชือกเหมือนคันธนู ส่วนขึงเชือกนี้จะเกิดเสียงเมื่อต้องลม เสียงนี้ช่วยกำจัดความชั่วร้ายได้
ปัจจุบันว่าวที่มีการเล่นกันโดยทั่วไปได้มีการพัฒนารูปแบบการเล่นเพื่อความสวยงาม โดยทำว่าวให้เป็นรูปแบบที่แปลกแตกต่างกันออกไปเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ว่าวงู ว่าวผีเสื้อ ฯลฯ

วิธีการเล่น มีอยู่ ๓ วิธี คือ
๑. ชักว่าวให้ลอยลมปักอยู่กับที่ เพื่อดูความสวยงามของว่าวรูปต่าง ๆ
๒. บังคับสายชักให้เคลื่อนไหวได้ตามต้องการ นิยมกันที่ความสวยงาม ความสูง และบางทีก็คำนึงถึงความไพเราะของเสียงว่าวอีกด้วย
๓. การต่อสู้ทำสงครามกันบนอากาศ คือ การแข่งขันว่าวจุฬาและปักเป้าคว้ากันบนอากาศ จะจัดให้มีการแข่งขันกันที่บริเวณท้องสนามหลวงกำหนดแดนขณะทำการแข่งขัน ว่าวปักเป้าจะขึ้นอยู่ในแดนของตน ล่อหลอกให้ว่าวจุฬามาโฉบเพื่อจะลากพามายังดินแดนของตน โดยให้ว่าวปักเป้าติดตรงดอกจำปาที่ติดไว้ เมื่อติดแน่นดีแล้วว่าวจุฬาจะรีบลากรอกพามายังดินแดนของตน ขณะเดียวกันว่าวปักเป้าก็จะพยายามใช้เหนียงที่เป็นเชือกป่านคล้องตัวว่าวจุฬาให้เสียสมดุลและชักลากดึงให้ตกลงมายังดินแดนของตน ในการเล่นว่าวจุฬาลากพาว่าวปักเป้าเข้ามาทีละตัวหรือหลายตัวก็ได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างนำคู่แข่งขันมาตกยังดินแดนของตนเองได้ ก็ถือว่าเป็นฝ่ายชนะแต่ถ้าขณะชักลากพามา ว่าวปักเป้าขาดลอยไปได้ถือว่าไม่มีฝ่ายใดได้คะแนน

โอกาสหรือเวลาที่เล่น
การเล่นว่าวต้องอาศัยกระแสลมเป็นสำคัญ กระแสลมที่แน่นอนจะช่วยให้เล่นว่าวได้สนุก จึงมักจะเล่นกันในราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ซึ่งถึงว่าเป็นช่วงที่ลมพัดแรงกระแสลมสม่ำเสมอที่เราเรียกกันว่า “ลมว่าว”

คุณค่า/แนวคิด/สาระ
การแข่งขันว่าวเป็นกีฬาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทยอย่างหนึ่ง เป็นศิลปะที่ต้องใช้ความสามารถของผู้ทำว่าวและผู้ชักว่าวเป็นอย่างมากต้องใช้ความประณีต ความแข็งแรง ความมีไหวพริบ และข้อสำคัญต้องอาศัยความพร้อมเพรียงด้วย
นอกจากนั้น ได้มีการนำลักษณะของว่าวมาใช้พูดเป็นสำนวนเพื่อเปรียบเทียบกับคน เช่น “ว่าวขาดลอย” หมายถึง การเคว้งคว้างไร้ที่ยึดเหนี่ยว “ว่าวติดลม” หมายถึง ว่าวที่ลอยกินลมอยู่กลางอากาศ (สำนวน) เพลินจนลืมตัว

By nighttomissyou

การละเล่นพื้นบ้านของภาคใต้

ชื่อ  ชักกะเย่อ
ภาค  ภาคใต้
จังหวัด  พังงา 
อุปกรณ์และวิธีเล่น
เชือกเส้นใหญ่ๆ ๑ เส้น สำหรับจับดึงกัน

วิธีเล่น
จัดคนเล่นออกเป็น ๒ พวก ให้มีกำลังพอๆ กัน เมื่อแบ่งพวกเสร็จแล้ว ให้ไปอยู่คนละข้างของไม้หรือเชือกนั้น ให้คนหัวแถวจับก่อนข้างละคน นอกนั้นให้จับเอวกันตลอดทั้งสองข้าง เมื่อให้สัญญาณแล้วต่างฝ่ายก็ลงไปข้างหลังทุกคนระเบียบการตัดสิน ใช้ตัดสินกันเองหรือให้มีผู้ตัดสิน ๑ คน ยืนตรงกลางให้สัญญาณและตัดสินได้ เพื่อให้รู้แน่ว่าฝ่ายใดแพ้ชนะจะปักธงไว้ตรงกลางก็ได้ ฝ่ายใดถูกดึงเลยเขตได้หมดตั้งแต่หนึ่งศอกขึ้นไปนับเป็นแพ้ เมื่อแพ้แล้วไม่มีปรับให้ร้องรำอย่างใดเลย

โอกาสที่เล่น
เล่นแข่งขันในงานกิจกรรมต่างๆ หรือในเทศกาลพิเศษ

คุณค่า/แนวคิด/สาระ
เพื่อออกกำลังและรับความรื่นเริงในเมื่อแพ้ชนะกันเท่านั้น

By nighttomissyou

การละเล่นพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ชื่อ  แข่งเรือบก
ภาค  ภาคตะวันออกเฉีบงเหนือ
จังหวัด  ชัยภูมิ 
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
ไม้กระดาน ๒ แผ่น ยาวประมาณ ๑ วาเศษ พร้อมเชือกที่จะใช้รัดหลังเท้าติดกับไม้
วิธีการเล่น ผู้เล่นแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ละ ๒-๕ คน โดยจะรัดเท้าทั้ง ๒ ข้าง ไว้กับกระดาน ๒ แผ่น มือจับเอวหรือจับไหล่ของผู้ที่อยู่ข้างหน้า อาศัยความพร้อมเพรียงจะยกเท้าซ้ายพร้อม ๆ กัน ดันไม้กระดานไปข้างหน้า กลุ่มใดถึงเส้นชัยก่อนถือว่าชนะ

โอกาสหรือเวลาที่เล่น
ส่วนใหญ่จะเล่นในเทศกาลสงกรานต์

คุณค่า / แนวคิด / สาระ
นอกจากจะเป็นการออกกำลังขาแล้วยังสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ สร้างความสนุกสนาน การแข่งเรือบกจะเล่นกันในพื้นที่ ๆ ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน

By nighttomissyou

การละเล่นพื้นบ้านของภาคเหนือ

ชื่อ  ม้าจกคอก
ภาค  ภาคเหนือ
จังหวัด  กำแพงเพชร 
การเล่นม้าจกคอก ภาคกลางเรียก ลาวกระทบไม้ การเล่นชนิดนี้เข้าใจว่าอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากการละเล่นของชาวลัวะ
อุปกรณ์และวิธีเล่น
จำนวนผู้เล่น ตั้งแต่ ๓ คนขึ้นไป
อุปกรณ์
๑. ไม้กลมขนาดกำรอบ ยาวประมาณ ๕ ศอก จำนวน ๒ ท่อน
๒. ขอนไม้สูงประมาณ ๑ คืบ ยาวประมาณ ๑-๒ ศอก จำนวน ๒ ท่อน
สถานที่เล่น เล่นบริเวณที่เป็นลานกว้าง
วิธีการเล่น
๑. แบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายแรกมี ๒ คน สำหรับถือท่อนไม้ที่วางขนานบนขอนไม้ แล้วกระทบกันเป็นจังหวะ ส่วนฝ่ายที่ ๒ มี ๒ คนขึ้นไป สำหรับเป็นผู้เต้น
๒. ให้ผู้เล่นเข้าไปอยู่ระหว่างคาน ผู้ถือไม้คานทั้งคู่ก็ทำสัญญาณ โดยยกคานไม้ทั้งคู่กระแทกลงบนไม้หมอน ระหว่างที่เคาะจังหวะอยู่นั้นผู้เล่นต้องเต้นไปด้วย เมื่อให้สัญญาณเคาะ ๓ ครั้งแล้ว ครั้งที่ ๔ ผู้ถือจะเอาคานทั้งสองเข้าชิดกัน ผู้เต้นจะต้องกระโดดให้สูงกว่าครั้งแรกของจังหวะและแยกขาออกให้พ้นไม้ ถ้าถูกหนีบเรียกว่า ม้าขำคอก หรือม้าติดคอก คู่ที่ถูกไม้หนีบจะต้องออกไปเปลี่ยนให้ผู้ที่ถือคานอยู่เดิมนั้นเข้ามาเต้นในระหว่างคานนั้นบ้าง

โอกาสหรือเวลาที่เล่น
การเล่นม้าจกคอกนิยมเล่นในวันขึ้นปีใหม่ (สงกรานต์) ของล้านนา

สาระ
การเล่นม้าจกคอก เป็นการละเล่นเพื่อให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ทำให้เกิดความสามัคคีภายในกลุ่มและความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

By nighttomissyou

การละเล่นพื้นบ้านของภาคกลาง

ชื่อ  ตี่จับ
ภาค  ภาคกลาง
จังหวัด  กรุงเทพมหานคร 
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
การเล่นตี่จับต้องแบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายละเท่า ๆ กัน มีเส้นแบ่งเขตตรงกลาง ต้องตกลงกันว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายรุกไปก่อน คนหนึ่งที่เป็นฝ่ายรุกจะเริ่มข้ามเขต พอเข้าเขตฝ่ายตรงข้ามก็ต้องร้อง “ตี่” ไม่ให้ขาดเสียง แล้ววิ่งเอามือแตะตัวคนใดคนหนึ่งในฝ่ายรับ แต่จะหยุดหายใจไม่ได้ ในขณะที่ร้อง “ตี่” นั้น ฝ่ายรับก็จะพยายามจับคนที่ร้อง “ตี่” ไว้ ถ้าคนร้อง “ตี่” เห็นว่าจะสู้ไม่ได้หรือจะต้องถอนหายใจ ต้องรีบถอยมาให้พ้นเส้นแบ่งเขต ถ้าถอยไม่ทันผู้ร้อง “ตี่” หยุดถอนหายใจก็จะต้องถูกจับตัวไว้เป็นเชลย แต่ถ้าคนที่ร้อง “ตี่” แตะตัวฝ่ายรับได้ คนที่ถูกแตะก็เป็นเชลยฝ่ายนี้ ฝ่ายที่ได้เชลยก็จะส่งคนร้อง “ตี่” ไปแตะคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามอีก ถ้ายังจับไม่ได้ก็ผลัดกันรุกคนละครั้ง จนกว่าจะกวาดเชลยได้หมดก็ขึ้นตาใหม่
โอกาสหรือเวลาที่เล่น
มักจะเล่นในเวลาว่างจากภารกิจทั้งปวง เช่น เวลาพักหลังเลิกเรียน หรือภายหลังจากทำงานบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว

คุณค่า/แนวคิด/สาระ
การเล่นตี่จับเป็นการฝึกการใช้กำลัง ฝึกความว่องไว และความอดทน นอกเหนือไปจากความสนุกสนานเพลิดเพลิน

By nighttomissyou

การละเล่นพื้นบ้านของภาคใต้

ชื่อ  หมากขุม
ภาค  ภาคใต้
จังหวัด  นครศรีธรรมราช 
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
อุปกรณ์ในการเล่น
๑). รางหมากขุม เป็นรูปเรือทำจากไม้ ยาวประมาณ ๑๓๐ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๒๐ เซนติเมตร มีหลุมเรียงเป็น ๒ แถว หลุมกว้างประมาณ ๗ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๔ เซนติเมตร มีด้านละ ๗ หลุม เรียกหลุมว่า เมือง หลุมที่อยู่ปลายสุดทั้งสองข้างเป็นหลุมใหญ่กว้างประมาณ ๑๑ เซนติเมตร เรียกว่า หัวเมือง
๒) ลูกหมาก นิยมใช้ลูกสวดเป็นลูกหมาก ใส่ลูกหมากหลุมละ ๗ ลูก จึงต้องใช้ลูกหมาก ในการเล่น ๙๘ ลูก
๓) ผู้เล่นมี ๒ คน

วิธีการเล่น
๑) ผู้เล่นนั่งคนละข้างกับรางหมากขุม แต่ละคนใส่ลูกหมากหลุมละ ๗ ลูก ทั้ง ๗ หลุม ส่วนหลุมหัวเมืองไม่ต้องใส่ให้เว้นว่างไว้
๒) การเดินหมาก ผู้เล่นจะเริ่มเดินพร้อมกันทั้ง ๒ ฝ่าย เรียกว่า แข่งเมือง โดยหยิบลูกหมากจากหลุมเมืองของตนหลุมใดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะหยิบหลุมสุดท้ายของฝ่ายตนเอง เพราะคำนวนว่าเม็ดสุดท้ายจะถึงหัวเมืองของตนพอดี การเดินหมากจะเดินจากขวาไปซ้าย โดยใส่ลูกหมากลงในหลุม ถัดจากหลุมเมืองที่หยิบลูกหมากขึ้นมาเดิน ใส่ลูกหมากหลุมละ ๑ เม็ด รวมทั้งใส่หลุมหัวเมืองฝ่ายตนเอง แล้ววนไปใส่หลุมของฝ่ายตรงกันข้าม ยกเว้นหลุมหัวเมือง เมื่อเดินลูกหมากเม็ดสุดท้ายใส่ในหลุม ให้หยิบลูกหมากทั้งหมดในหลุมนั้นขึ้นมาเดินหมากต่อไป โดยใส่ในหลุมถัดไป เล่นเดินหมากอย่างนี้จนลูกหมากเม็ดสุดท้ายหมดลงในหลุมที่เป็นหลุมว่าง ถือว่าหมากตาย ถ้าเดินหมากตายในหลุมเมืองของฝ่ายตรงข้ามก็ถือว่าสิ้นสุดการเดินหมาก แต่ถ้า
ตายในหลุมเมืองฝ่ายตนเอง ให้ผู้เล่นกินหมากหลุมเมืองซึ่งอยู่ตรงข้ามกับหลุมที่เราเดินหมากมาตาย โดยควักลูกหมากทั้งหมดในหลุมไปไว้ในหลุมหัวเมืองของฝ่ายตน เรียกว่ากินแทน เล่นอย่างนี้จนหลุมเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดลูกหมาก เดินต่อไปไม่ได้ ลูกหมากทั้งหมดจะไปรวมอยู่ในหลุมหัวเมืองของทั้ง ๒ ฝ่าย จึงเริ่มเล่นรอบใหม่ต่อไป
๓) การเดินหมากรอบสอง ผู้เล่นจะผลัดกันเดินทีละคน ทำเช่นเดียวกับการเดินรอบแรก นำลูกหมากจากหลุมหัวเมืองฝ่ายตนเองใส่ลงในหลุม ๆ ละ ๗ ลูก ในฝ่ายของตนเอง คราวนี้แต่ละฝ่ายจะมีลูกหมากไม่เท่ากัน ฝ่ายที่มีลูกหมากมากกว่าจะเป็นผู้เดินหมากก่อน ฝ่ายที่มีลูกหมากน้อยกว่าจะใส่ไม่ครบทุกหลุม หลุมใดมีไม่ครบให้นำลูกหมากที่เหลือไปใส่ในหลุมหัวเมืองฝ่ายตน หลุมใดไม่มีลูกหมากเรียกว่า เมืองหม้าย ตามปกติหลุมเมืองหม้ายจะปล่อยไว้หลุมปลายแถว หลุมเมืองหม้ายจะไม่ใส่ลูกหมาก ถ้าฝ่ายใดใส่จะถูกริบเป็นของฝ่ายตรงกันข้าม ในกากรเล่นจะเล่นจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดลูกหมากเดินต่อไปไม่ได้และจะนับเมืองหม้าย ใครมีจำนวนเมืองหม้ายมากกว่าฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายแพ้

โอกาสหรือเวลาในการเล่น
การเล่นหมากขุมจะเล่นในยามว่างจากการงาน เล่นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เป็นพักผ่อนหย่อนใจ จึงเล่นได้ทั้งวัน

คุณค่า สาระ แนวคิด
๑. การเล่นหมากขุม มีคุณค่าในการฝึกลับสมอง การวางแผนการเดินหมากจะต้องคำนวน จำนวนลูกหมากในหลุม ไม่ให้หมากตาย และสามารถกลับมาหยิบลูกหมากในหลุมของตนเองได้อีก ผู้เดินหมากขุมจึงต้องมีสายตาว่องไว คิดเลขเร็ว เป็นการฝึกวิธีคิดวางแผนจะหยิบหมากในหลุมใดจึงจะชนะฝ่ายตรงกันข้าม เป็นการฝึกให้ผู้เล่นรู้จักคิดวางแผนในการทำงานทุกอย่างสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
๒. เป็นการพักผ่อนหย่อนใจ นันทนาการภายในบ้าน ภายในชุมชน ให้ทั้งความสนุกสนาน และความใกล้ชิดระหว่างพี่น้อง ญาติมิตร
๓. ก่อให้เกิดการประดิษฐ์รางหมากขุม ที่มีความสวยงามและประณีต เป็นความภาคภูมิใจของผู้สร้างชิ้นงาน และยังสามารถสร้างรายได้ในการจำหน่ายรางหมากขุม

By nighttomissyou

การละเล่นพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ชื่อ   วิ่งขาโถกเถก
ภาค  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  ชัยภูมิ
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
อุปกรณ์ ไม้ไผ่กิ่ง ๒ ลำ ถ้าไม่มีก็เจาะรูแล้วเอาไม้อื่นๆ สอดไว้เพื่อให้เป็นที่วางเท้าได้
วิธีการเล่น ผู้เล่นจะเลือกไม้ไผ่ลำตรง ๆ ที่มีกิ่ง ๒ ลำที่กิ่งมีไว้สำหรับวางเท้าต้องเสมอกันทั้ง ๒ ข้าง ผู้เล่นขึ้นไปยืนบนแขนงไม้เวลาเดินยกเท้าข้างไหนมือที่จับลำไม้ไผ่ก็จะยกข้างนั้น ส่วนมากเด็ก ๆ ที่เล่นมักจะมาแข่งขันกัน ใครเดินได้ไวและไม่ตกจากไม้ถือว่าเป็นผู้ชนะ

โอกาสที่เล่น
การวิ่งขาโถกเถก ถือเป็นการละเล่นที่เล่นได้ทุกโอกาส โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์

คุณค่า / แนวคิด / สาระ
นอกเหนือจากความสนุกสนานแล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการออกกำลังกาย บริหารส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี เดิมผู้ที่ใช้ขาโถกเถกเป็นชายหนุ่มไปเกี้ยวสาว เสียงเดินจากไม้เมื่อสาวได้ยินก็จะมาเปิดประตูรอเพื่อพูดคุยกันตามประสาหนุ่มสาว หรือบ้านสาวเลี้ยงสุนัขไม้โถกเถกยังเป็นอุปกรณ์ไล่สุนัขได้ด้วย

By nighttomissyou